วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ประวัติถ่ายภาพของโลก

       การถ่ายภาพได้วิวัฒนาการมาจากการวาดภาพของจิตรกรในสมัยโบราณ  เพื่อบันทึกภาพแห่งความทรงจำและภาพแห่งความประทับใจเอาไว้  เพื่อใช้ในการสื่อสารและสื่อความหมาย  ต่อมามนุษย์ได้มีความคิดที่จะสร้างภาพให้ได้เหมือนจริงตามธรรมชาติ  และใช้เวลาในการสร้างภาพให้น้อยลง  จึงได้คิดวิธีการทำกระโจมให้เป็นห้องมืด และเจาะรูให้แสงลอดเข้ามา จากนั้นจะใช้เฟรมรับภาพแล้ววาดภาพที่เกิดขึ้นฝั่งตรงข้ามกับช่องรับแสง ต่อมาได้วิวัฒนาการมีการประดิษฐ์กล้องออบสคิวรา (Camera  Obscura) ช่วยในการวาดภาพ  ซึ่งปี ค.ศ. 1490  ลีโอนาโด ดา วินซี (Leonardo Da Vinci)  นักวิทยาศาสตร์และศิลปะชาวอิตาเลียน  ได้บันทึกคำอธิบายเกี่ยวกับหลักการทำงานของกล้องออบสคิวราไว้อย่างสมบูรณ์ ทำให้คนเริ่มเข้าใจเรื่องกล้องมากขึ้น  โดยเฉพาะจิตรกรสนใจนำกล้องออบสคิวราไปช่วยในการวาดภาพลอกแบบ เพื่อให้ได้ภาพในเวลาที่รวดเร็วขึ้น มีสัดส่วนเหมือนจริง และมีแสงเงาที่ถูกต้อง   


กล้องออบสคิวราใช้ในการวาดภาพ
ที่มา : http://www.digitalpixels.net/wp-content/uploads/2009/05/large.png.

       ศตวรรษที่ 19  มนุษย์ก็ประสบผลสำเร็จในการคิดค้นกระบวนการสร้างภาพ  จากผลการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ที่พัฒนาความรู้จากศาสตร์ 2 สาขา  คือ สาขาฟิสิกส์  ได้แก่เรื่องของแสงและกล้องถ่ายภาพ  และสาขาเคมี ในส่วนที่เกี่ยวกับฟิล์ม สารไวแสง และน้ำยาสร้างภาพ 
       บุคคลแรกที่สามารถใช้กล้องออบสคิวราบันทึกภาพได้ คือ โจเซฟ เนียฟฟอร์ เนียฟซ์ (Joseph Nicephore Niepce) ชาวฝรั่งเศส  ด้วยการถ่ายภาพเมือง ชาลอง เซอร์ ซอง (Chalon-Sur-Saone) จากหน้าต่างบ้านของเขา ใช้เวลาการเปิดรับแสงนาน 8 ชั่วโมง ด้วยสารไวแสงบิทูเมน (Bitumen) ฉาบบนแผ่นโลหะที่ผสมระหว่างดีบุกกับตะกั่ว นำไปล้างด้วยสารละลายไลท์ปิโตรเลี่ยม (Light Petroleum) ผสมกับน้ำมันลาเวนเดอร์ (Lavender) บริเวณที่ถูกแสงสารบิทูเมนจะแข็งตัว บริเวณที่ไม่ถูกแสงจะอ่อนตัว ทำให้ถูกล้างออกไปจนหมด เหลือแต่ผิวของแผ่นโลหะเป็นสีดำ นับว่าเป็นภาพถ่ายภาพแรกของโลก ในปี ค.ศ. 1826 


ภาพถ่ายแรกของโลก โดย โจเซฟ เนียฟฟอร์ เนียฟซ์
ที่มา : http://cool.conservation-us.org /byorg/abbey/an /an26/An26-3/an26-307.html

       ต่อมาปี ค.ศ. 1837  หลุยส์  จาคเกอร์  แมนเด  ดาแกร์  (Louis  Jacques  Mande Daguerre)   จิตรกรชาวฝรั่งเศส  ได้ใช้แผ่นทองแดงฉาบผิวหน้าด้วยเงิน  (Silver)  แล้วนำไปอังไอโอดีน  (Iodine)   ทำให้เกิดเกลือเงินไอโอได (Silver Iodide)  เพื่อให้เป็นสารไวแสง แล้วนำไปถ่ายภาพโดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที  จากนั้นนำแผ่นทองแดงที่ถูกแสงแล้วไปอังไอปรอท  ซึ่งจะเกาะติดผิวเฉพาะบริเวณที่ถูกแสงเท่านั้น  จากนั้นนำไปแช่น้ำเย็น และทำให้คงสภาพ  โดยแช่สารละลายของเกลือแกง  หรือไฮโป ส่วนใดที่ไม่ถูกแสงจะละลายออกไป  ภาพที่ได้จะมีความละเอียด  คมชัด กว่าภาพของโจเซฟ เนียฟฟอร์ เนียฟซ์  ลักษณะของภาพจะกลับซ้ายเป็นขวาเหมือนภาพที่มองผ่านกระจกเงา เรียกว่า กระบวนการถ่ายภาพดาแกโรไทป์ (Daguerrotype)

ภาพถ่ายทิวทัศน์ของดาแกร์

ภาพถ่ายหุ่นนิ่งของดาแกร์
ที่มา : http://en.wikipedia.org/wiki/File:Daguerreotype_Daguerre_Atelier_1837.jpg.

         และในปี ค.ศ. 1840  วิลเลี่ยม  เฮนรี่  ฟอกซ์  ทัลบอท  (William  Henry  Fox  Talbot)  นักวิทยาศาสตร์และนักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ   ได้พัฒนากระบวนการถ่ายภาพ  ด้วยการถ่ายภาพเนกาทิฟ  ลงบนกระดาษที่ฉาบผิวหน้าด้วยซิลเวอร์ไอโอไดด์  หลังจากนำไปเข้ากล้องถ่ายภาพ และถ่ายภาพแล้ว  นำกระดาษมาล้างในน้ำยาสร้างภาพ   ซึ่งใช้ส่วนผสมของเงินไนเตรทกับกรดแกลลิก เขาเรียกน้ำยานี้ว่า  แกลโลไนเตรท  ออฟ  ซิลเวอร์  (Gallonitrate  of  Silver)  เมื่อนำไปผ่านกระบวนการสร้างภาพและคงสภาพแล้ว  จะได้ภาพพอซิทิฟที่สมบูรณ์  กระบวนการถ่ายภาพเนกาทิฟ – พอซิทิฟ  ของทัลบอทนี้ เรียกชื่อว่า “แคโลไทป์” (Calotype)  ซึ่งเป็นต้นแบบในการพัฒนาสร้างฟิล์มเนกาทิฟในยุคต่อมา

ภาพถ่ายแบบแคโลไทป์ของทัลบอท

2 ความคิดเห็น: